การปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่ถ้าจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของแนวความคิดทางประชาธิปไตยจริงๆ ต้องย้อนหลังกลับไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีแนวพระราชดำริในการวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประเทศไทยของเราไว้แล้ว

– รัชกาลที่ 5 ทรงวางรากฐานประชาธิปไตย
ในความเป็นจริงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2416 ได้ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและสภาที่ปรึกษาในพระองค์ แต่สภาทั้งสองก็ไม่ได้เสนอความเห็นในการปรับปรุงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก
ทรงโปรดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “ร่างรัฐธรรมนูญแผ่นดินของพระปิยมหาราช” แสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 5 ทรงส่งเสริมแนวทางของประชาธิปไตยและวางรากฐานเอาไว้ตั้งแต่รัชกาลของพระองค์แล้ว และทรงมีดำริที่จะให้พระราชโอรสของพระองค์เป็นผู้มอบรัฐธรรมนูญและรัฐสภาให้กับประชาชนต่อไป

– รัชกาลที่ 6 กับแนวทางประชาธิปไตย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฎ ร.ศ. 130 ขึ้นในปีพ.ศ. 2454 โดยกลุ่มคนที่ต้องการโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยได้ก่อการกบฏขึ้นโดยมีจุดประสงค์ให้พระเจ้าอยู่ยอมลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และถ้าไม่ทรงยินยอมก็จะเชิญเจ้านายในราชวงศ์จักรีพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐไทย แต่การก่อกบฏก็ทำไม่สำเร็จ กลุ่มผู้ก่อการกบฏครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นนายทหารหนุ่มในระดับนายร้อย ภายหลังพระเจ้าอยู่หัวทรงลดหย่อนโทษให้โดยลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต 3 คน จำคุก 20 ปี จำนวน 20 คน ส่วนที่เหลือรอลงอาญาไว้
แต่เดิมพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงตั้งพระทัยจะพระราชทานรัฐธรรมนูญและจัดตั้งสภาให้แก่ราษฎรตามที่พระราชบิดาทรงดำริไว้ เนื่องจากพระองค์เองเคยศึกษาที่อังกฤษจึงทรงนิยมระบอบรัฐธรรมนูญอยู่บ้าง แต่ก็ได้รับการทัดทานจากเสนาบดีและที่ปรึกษาชาวอังกฤษ เนื่องจากเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดการศึกษาและไม่เข้าใจระบบรัฐสภา จึงทรงดำริจะสร้างเมืองสมมติขึ้นเพื่อจำลองระบอบประชาธิปไตยขึ้นทดลองใช้ปกครองในเมืองนี้เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนก่อนโดยทรงพระราชทานชื่อให้ว่า “ดุสิตธานี”

– รัชกาลที่ 7 เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแต่ถูกปฏิวัติก่อน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ทรงจัดการด้านการปกครอง ทรงเชื่อว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะสามารถแก้ปัญหาของประเทศสยามได้ โดยทรงประสงค์ที่จะดำเนินการทีละขั้น เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมก่อน ทรงมอบหมายให้พระยาศรีวิสารวาจาและนายเรมอนด์ สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยทรงดำริจะพระราชทานให้แก่ประชาชนในวันพระราชพิธีฉลองกรุงเทพมหานครครบ 150 ปี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 แต่ได้รับการทัดทานจากสภาที่ปรึกษาจึงทรงชะลอไว้ก่อน
จนกระทั่งเกิดเหตุการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎรเสียก่อน พระเจ้าอยู่หัวทรงยินยอมตามความประสงค์ของคณะราษฎร เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นพระประสงค์ของพระองค์อยู่ก่อนแล้ว และไม่ทรงต้องการให้เกิดการนองเลือดของราษฎร ต่อมาจึงทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกของราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่มีมายาวนานและเป็นการเริ่มต้นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก
เครดิตภาพ ศิลปวัฒนธรรม, สถาบันปรีดี พนมยงค์, ไทยโพสต์
#เรื่องทั่วไป #เกร็ดความรู้รอบตัว #เทคนิคต่างๆ #สาระน่าสนใจ #จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยในไทย