ประเทศสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์คงจะมีประชากรประมาณ 5 ล้านคน ตอนนั้นประเทศยังไม่มีวิวัฒนาการทางระบบการแพทย์และสาธารณสุข แม้ประเทศจะมีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแต่ก็เกิดโรคระบาดขึ้นบ่อยๆ เมื่อมีคนเกิดขึ้นมาก็มีคนตายไปในปริมาณพอกัน ดังนั้นจำนวนประชากรของประเทศสยามจึงคงที่ตลอดมา

สำหรับวิถีชีวิตของราษฎรนั้นต่างก็ทำมาหากินกันไปไม่มีเหตุที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงในการบริโภคหรือต้องขยายปริมาณการผลิตสินค้าและไม่มีวิวัฒนาการในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ทางด้านการปกครองบ้านเมืองก็เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีพระราชภาระในการปกป้องอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่อย่างสงบสุขและปลอดภัยจากอันตรายทั้งจากภายในประเทศและนอกประเทศ
การดำเนินชีวิตของคนไทยทั้งทางด้านการใช้ชีวิต ลักษณะที่อยู่อาศัย การแต่งกายและศิลปะวัฒนธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นกับจึงแทบจะไม่มีวิวัฒนาการใดๆและไม่มีความแตกต่างกับสมัยอยุธยาตอนปลาย
ครั้งแรกที่ประเทศสยามทำสนธิสัญญากับต่างชาติ คือการทำสัญญากับอังกฤษในปี พ.ศ. 2398 ที่เรียกว่าสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญเพราะเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางสังคมขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยามและดำเนินต่อมาจนปัจจุบัน
เริ่มต้นจากการค้าขายโดยการส่งออกข้าวให้กับฝรั่งอังกฤษเพื่อซื้อไปขายต่อให้แก่บรรดาประเทศราชของตนในเอเชีย เช่น สิงคโปร์, มลายู, ฮ่องกง เป็นต้น นอกจากข้าวแล้ว ยังมีสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น พริกไทย, เครื่องเทศ, ถั่วงา และอื่นๆ รวมไปถึงดีบุก, ไม้สักและยางพารา เมื่อเกิดความต้องการทางการตลาดขึ้น การทำนาปลูกข้าวจึงขยายตัวออกไป มีการตั้งโรงสีเพื่อรับซื้อข้าวจากชาวนา จึงเกิดวิวัฒนาการในการทำเกษตรกรรมเปลี่ยนจากการทำเพียงเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเป็นการผลิตเพื่อการขายเป็นหลักและมีการเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวขึ้นมาอีกหลายล้านไร่

ในขณะเดียวกันก็มีวิวัฒนาการในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น เดิมสยามเคยซื้อสินค้าจากจีนและประเทศเพื่อนบ้านใก้ลเคียง ก็เพิ่มการนำเข้าสินค้าของฝรั่งด้วย ซึ่งมีสินค้าหลากหลายจนเป็นความนิยมของคนไทยมาถึงทุกวันนี้ ภายหลังประเทศญี่ปุ่นสามารถผลิตสินค้าแบบเดียวกับฝรั่งและมีราคาถูกกว่า คนไทยจึงหันมาซื้อสินค้าสินค้าญี่ปุ่นด้วยเช่นกันสินค้าฝรั่งที่สามารถนำเข้ามาขายให้คนไทยได้จำนวนมากคือสุรา เพราะสุราฝรั่งมีแอลกอฮอลล์สูงกว่าสุราไทยและมีรสชาดดีกว่า
อีกทั้งในสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกำหนดให้เก็บอากรสินค้านำเข้าได้ไม่เกินร้อยละ 3 จึงทำให้สุราฝรั่งมีราคาไม่แพงมากและคนไทยมีกำลังซื้อมาบริโภคได้โดยง่าย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทรงดำริให้ทำการเจรจาเพื่อขอแก้ไขสัญญา โดยขอให้มีการเก็บอากรขาเข้าในอัตราที่สูงขึ้น โดยให้เหตุผลว่าสุราเป็นสินค้าที่มีโทษต่อสุขภาพของราษฎรไม่ควรให้มีการบริโภคมากเกินไป
สำหรับรายได้จากการส่งออกก็นำมาซื้ออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ ส่วนหนึ่งก็นำมาซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับชนชั้นสูงในสังคม รวมทั้งการจ้างฝรั่งมาทำราชการในหน้าที่ที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญสากลและส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาการยังต่างประเทศ จากการผลิตที่เพิ่มขึ้น การส่งออกและการนำเข้า จึงทำให้เกิดวิวัฒนาการของการทำธุรกิจขึ้นมา เริ่มต้นจากธุรกิจโรงสีข้าวและธุรกิจการค้าข้าว ตามมาด้วยธุรกิจธนาคารพาณิชย์และอื่นๆอีกมาก และทำให้รัฐมีรายได้จากการเก็บอากรทั้งขาเข้าขาออกเพิ่มขึ้นเป็นกว่าสิบล้านบาท
เมื่อรัฐมีรายได้มากขึ้นก็สามารถนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัยรวมทั้งนำมาพัฒนาทางด้านการศึกษาสมัยใหม่ของประเทศ ในสมัยก่อนนั้นคนที่รู้หนังสือมีไม่มากนัก คือเจ้านายชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง พระภิกษุที่เรียนการเปรียญธรรม ราษฎรเกือบทั้งหมดไม่รู้หนังสือ สมัยนั้นยังไม่มีการศึกษาในระบบโรงเรียน เด็กๆจะเริ่มเรียนที่วัดพอให้อ่านออกเขียนได้ ถ้าเป็นลูกหลานข้าราชการก็จะเรียนที่บ้าน วิวัฒนาการของการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบเพิ่งจะเริ่มต้นในรัชกาลที่ 5
โดยทรงจัดตั้งโรงเรียนแบบตะวันตกขึ้น เริ่มจากโรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวังและโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่นันทอุทยาน โรงเรียนสำหรับสามัญชนแห่งแรกคือโรงเรียนวัดมหรรณพาราม โรงเรียนเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ต่อมาจึงเกิดโรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนกุลสตรีวังหลังซึ่งสอนตามหลักสูตรตะวันตก ต่อมาปี พ.ศ. 2435
จึงเกิดโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นเป็นแห่งแรก ปี พ.ศ. 2436 รัชกาลที่ 5 โปรดให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกขึ้นเพื่อสร้างนายทหารออกมารับราชการทหารบก ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก แล้วเปลี่ยนเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่สุด
ส่วนการส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่างประเทศนั้นเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นที่มาของคำที่เรียกกันว่า “นักเรียนนอก” ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้านายชั้นสูง, สมาชิกในราชวงศ์, ข้าราชการ, คหบดี และครูอาจารย์ บุคคลเหล่านี้เมื่อเรียนจบกลับมาจึงนำวิวัฒนาการของการใช้ชีวิตแบบฝรั่งเข้ามาในประเทศไทยและเป็นแบบอย่างให้กับคนไทยคนอื่นนำมาปฏิบัติในเวลาต่อมา
นอกจากเศรษฐกิจและการศึกษาจะผลักดันให้เกิดวิวัฒนาการในสังคมไทยแล้ว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญเช่นกันในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาประเทศ และคนไทยส่วนใหญ่ก็มีความกระตือรือร้นในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้งานในชีวิตประจำวัน
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงนำวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้โดยการตั้งโรงกษาปณ์เพื่อผลิตเงินตรา และได้มีการต่อเรือกลไฟขึ้นเป็นลำแรกในประเทศชื่อเรือ “สยามอรสุมพล” หลังจากนั้นจึงมีวิวัฒนาการของกิจการเกิดขึ้นอีกมาก เช่นการไปรษณีย์โทรเลข, การถ่ายรูป, การแพทย์และการสาธารณะสุข, การประปา, การก่อสร้าง, การพิมพ์, การไฟฟ้าเป็นต้น

การนำวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาในประเทศนั้นเริ่มต้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงมีความสนพระทัยในการศึกษาในเรื่องทางวิทยาศาสตร์ด้วยพระองค์เอง ดังการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคึรีขันธ์ ต่อมาทางรัฐบาลจึงถวายพระเกียรติพระองค์เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 วิชาวิทยาศาสตร์ได้รับการบรรจุเข้ามาเป็นหลักสูตรมัธยมศึกษา มีการตั้งโรงเรียนแพทย์, โรงเรียนพยาบาล ในด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม มีการตั้งกิจการรถไฟ, รถราง, โทรเลขและโทรศัพท์
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการนำเครื่องบินและระบบโทรศัพท์อัตโนมัติเข้ามาใช้งาน ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการเกิดขึ้นของวิทยุกระจายเสียง
ดังนั้นสนธิสัญญาเบาว์ริ่งจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเทศและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศขนานใหญ่ และมีวิวัฒนาการในด้านต่างๆตลอดมาจนถึงปัจจุบันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และสังคม
เครดิตภาพ Pinterest, National Geographic, Bloggang
#เรื่องทั่วไป #เกร็ดความรู้รอบตัว #เทคนิคต่างๆ #สาระน่าสนใจ #จุดเริ่มต้นของสังคมไทย