วิชาประวัติศาสตร์ในหลักสูตรการศึกษาของชาติ มักจะมีคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แต่ขาดแรงกระตุ้นให้นักเรียนมีความต้องการหาวิเคราะห์หาสาเหตุและเหตุผลของเหตุการณ์ วิชาประวัติศาสตร์จึงไม่ได้สร้างความน่าสนใจให้อยากเรียนแต่เป็นวิชาที่ชวนง่วงนอนเพราะให้ความสำคัญกับคำถามข้างต้นเพื่อครูอาจารย์จะได้นำไปออกข้อสอบ วิชาประวัติศาสตร์จึงควรมีคำถามว่าทำไมซึ่งเป็นคำถามที่สำคัญที่สุดและเป็นการเสริมทักษะในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ไปจนกระทั่งสังเคราะห์ให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีปัญญา

สมัยเป็นนักเรียนเราเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่าเราถูกบังคับให้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ เรามีความเห็นว่าเรียนวิชานี้แล้วเอาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตไม่ได้เอาไปใช้ทำงานหากินไม่ได้ เรียนไปง่วงไปไม่อยากจดจำวันเดือนปีในประวัติศาสตร์ที่ต้องถูกบังคับให้จำ คุณครูที่สอนก็ไม่ได้สร้างความรู้สึกร่วมให้เราอยากเรียนรู้ เรียนเพื่อจะให้สอบผ่านแค่นั้น เรียนจบแล้วก็จบกันไป ไม่เป็นประเด็นที่จะต้องมาพูดคุยคิดวิเคราะห์อะไรต่อมันช่างสูญเปล่าจริงๆ
ขอตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหาในวิชาประวัติศาสตร์สมัยเรียน คือการบันทึกเหตุการณ์และให้รายละเอียดเนื้อหาเชิงตื้นและมีแนวโน้มที่จะชวนเชื่อให้เกิดความรู้สึกของความเป็นชาตินิยมตามนโยบายของของรัฐบาลในขณะนั้น จึงทำให้ไม่แปลกใจว่าตอนนั้นวิชาประวัติศาสตร์น่าเบื่อชวนให้ง่วงนอน เนื้อหาไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความรู้สึกให้อยากเรียนรู้อยากหาเหตุผลหรือวิเคราะห์ต่อ วิชาประวัติศาสตร์อาจเป็นเครื่องมือของผู้ประหารประเทศในขณะนั้นเพื่อปลูกฝังความคิดแบบชาตินืยมและความมั่นคงของประเทศชาติ หากคิดหาสาเหตุว่าทำไมเนื้อหาของวิชาประวัติศาสตร์จึงเป็นไปในทิศทางนั้น เป็นไปได้ว่าตอนนั้นประเทศไทยเรากำลังต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่จึงต้องสร้างความรู้สึกรักชาติเพื่อให้ประเทศมั่นคงก็เป็นไปได้

วิชาประวัติศาสตร์ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือใดๆ ควรเป็นเหมือนประตูที่เปิดไว้ให้ค้นหาความจริงต่อไป วิชาประวัติศาสตร์ไม่ควรมีคำตอบหรือสรุปความจริงด้วยตัวเอง เพราะไม่มีใครที่รู้ความจริงด้วยตนเองจริง แม้แต่คนที่เขียนตำราประวัติศาสตร์ ดังนั้นวิชาประวัติศาสตร์จะต้องเป็นวิชาที่ปลายต้องเปิดไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงกันเพราะต้องเข้าใจว่านักประวัติศาสตร์ก็ใช้หลักฐานต่างๆ อย่างเช่นพงศาวดาร หรือบันทึก ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนที่บันทึกก็เป็นคนยุคหลังเหตุการณ์ และบันทึกจากคำบอกเล่าของคนอื่นเหมือนกัน ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของการตั้งสมมติฐานของความเป็นไปได้ของการศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ หลายกรณีข้อมูลพวกนี้ก็ขัดแย้งกันเอง แต่มันก็เป็นประเด็นที่น่าท้าทายให้คนที่สนใจประวัติศาสตร์นำไปคิดต่อ
ข้อสงสัยหลายอย่างทางประวัติศาสตร์อาจจะมีคำตอบแล้วจากนักประวัติศาสตร์แต่มันไม่ผิดหรอกที่เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะวิชาประวัติศาสตร์ไม่ได้ตั้งใจให้เราเชื่อทุกอย่างที่อยู่ในตำราหรือในหนังสือ แต่หัวใจของวิชาประวัติศาสตร์คือเปิดโอกาสให้ตั้งข้อสังเกตหรือสงสัยและไม่ผิดที่จะคิดต่างโดยมีเหตุผลส่วนตัว

ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักสูตรการสอนวิชาประวัติศาสตร์ต้องใจกว้างพอที่จะปฏิรูปวิชาประวัติศาสตร์ให้มีเนื้อหาที่เปิดกว้างและโน้มน้าวให้เกิดการวิเคราะห์ถกเถียง แม้ว่ามันอาจจะขัดแย้งกับนโยบายด้านชาตินิยม เพราะวิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของใคร วิชาประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ของการค้นหาวิเคราะห์เพื่อสร้างความรู้และความเชื่อเฉพาะคนอย่างเป็นอิสระ
เครดิตภาพ Trueid, ประชาไทย, TrekkingThai
#เรื่องทั่วไป #เกร็ดความรู้รอบตัว #เทคนิคต่างๆ #สาระน่าสนใจ #การสอนวิชาประวัติศาสตร์