พระธรรมโกษาจารย์หรือท่านพุทธทาสภิกขุคือบุคคลสำคัญทางการเผยแพร่แก่นของพระพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสภิกขุเกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2449 ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี นามเดิมคือเงื่อม พานิช บิดาของท่านชื่อนายเซี้ยง พานิช เป็นคนเชื้อจีน ปู่ของท่านได้อพยพมาจากเมืองจีน บิดาของท่านทำการค้าขายอยู่ในตลาดพุมเรียง มารดาของท่านชื่อนางเคลื่อน พานิชเป็นคนอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนตาของท่านเป็นขุนนางที่ปกครองหัวเมืองทางภาคใต้

ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องชายชื่อยี่เกยต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธรรมทาส พานิช ต่อมาน้องชายของท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนท่านโดยเฉพาะเรื่องการพิมพ์หนังสือเผยแพร่พระพุทธศาสนาและคำบรรยายของท่านอย่างแข็งขันในเวลาต่อมา
เมื่อท่านพุทธทาสอายุได้ 8 ขวบ บิดามารดาได้พาท่านมาฝากเป็นเด็กวัดที่วัดพุมเรียงเพื่อให้ได้รับการศึกษาขั้นต้นและให้เกิดความคุ้นเคยกับพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อมีอายุครบ 20 ปี ท่านพุทธทาสภิกขุได้บวชเป็นพระที่วัดอุบลได้รับฉายาว่า อินทปญโญ แปลว่าผู้มีปัญญายิ่งใหญ่
ท่านพุทธทาสได้ทุ่มเทให้กับการศึกษาหลักสูตรนักธรรมโดยการอ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อจะสอบให้ได้เปรียญธรรมชั้นสูงขึ้น แต่เดิมท่านตั้งใจจะบวชเพียงพรรษาเดียวคือ 3 เดือน แต่เมื่อท่านได้ศึกษานักธรรมและมีโอกาสได้ขึ้นเทศน์บ่อยๆ ท่านจึงเกิดความยินดีและอยู่ในเพศบรรพชิตต่อมาโดยไม่มีกำหนดสึก เมื่อครบพรรษาที่สองท่านจึงสอบได้นักธรรมโท

ต่อมาท่านพุทธทาสได้ไปศึกษาธรรมต่อในกรุงเทพฯ โดยได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เมื่อท่านมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านกลับพบว่าการปฏิบัติทางพระวินัยและความเหมาะสมสำรวมของพระภิกษุที่กรุงเทพฯ นั้นย่อหย่อนและออกนอกลู่นอกทาง ท่านจึงเกิดความเบื่อหน่ายและกลับมาที่พุมเรียง
เมื่อท่านพุทธทาสสามารถสอบได้นักธรรมเอกได้ ท่านได้ชลอการลาสิกขาไว้ก่อนและได้รับการชักชวนจากรองเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาให้ไปเป็นอาจารย์สอนนักธรรม ท่านตั้งใจจะลาสิกขาเมื่อเสร็จภาระกิจในการสอนนักธรรมแล้ว
ต่อมาอาของท่านผลักดันให้ท่านกลับเข้ามาศึกษาธรรมในกรุงเทพฯอีกครั้ง โดยหวังให้ท่านได้เป็นมหาเปรียญเพื่อเป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล เมื่อท่านพุทธทาสกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ ท่านมุ่งเน้นที่จะศึกษาภาษาบาลีเป็นหลักและให้ความสนใจกับสิ่งภายนอก เช่น การถ่ายภาพ, การท่องเที่ยว, เครื่องพิมพ์ดีด, เครื่องเล่นแผ่นเสียง, ภาษา, วิทยาศาสตร์และงานเขียนของปัญญาชนในสมัยนั้น เมื่อผลสอบนักธรรมออกมาท่านสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยคและได้เลื่อนเป็นพระมหาเงื่อม อินทปญโญ
ท่านพุทธทาสภิกขุมีปณิธานที่จะเผยแพร่แก่นธรรมะของพระพุทธศาสนาให้กับสาธารณชน โดยประสงค์ให้ปุถุชนทั่วไปรู้คำสอนในระดับสูงหรือแก่นของพุทธศาสนา ทั้งในเรื่อง อิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาท ท่านเห็นว่าปุถุชนทั่วไปควรมีความรู้ในธรรมขั้นสูงนี้และนำไปใช้ปฏิบัติจริงได้และนำไปสู่การบรรลุธรรมขั้นสุดคือนิพพาน การที่ท่านเห็นความสำคัญของความเข้าใจกันระหว่างศาสนาและเห็นว่าทุกศาสนามีจุดประสงค์เดียวกันท่านมิได้ปิดกั้นตนเองท่านจึงได้ศึกษาหลักธรรมของคริสต์และอิสลามด้วย การทำเช่นนี้ทำให้ท่านได้รับการต่อต้านจากบุคคลบางกลุ่ม
ท่านพุทธทาสเห็นว่าฆราวาสได้รับการรบกวนในชีวิตมากกว่าพระภิกษุมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงพระนิพพานมากกว่าภิกษุทั่วไป ฆราวาสามารถบรรลุถึงพระนิพพานโดยใช้การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันตามปกติได้โดยไม่จำเป็นต้องปลีกตัวออกไปจากสังคมเพื่อปฏิบัติในป่าในเขาเหมือนพระภิกษุ
ท่านพุทธทาสและนายธรรมทาสน้องชายของท่านและญาติธรรมจำนวนหนึ่งได้ไปพบวัดร้างแห่งหนึ่งบริเวณเขาพุทธทองชื่อวัดตระพังจิกมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นสถานที่ศึกษาปฏิบัติธรรมและเขียนหนังสือ ท่านได้ตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่าสวนโมกขพลารามและมีชื่อเป็นทางการว่าวัดธารน้ำไหล ต่อมาท่านได้ร่วมกับนายธรรมทาสน้องชายออกหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาเพื่อเป็นการเผยแพร่พุทธศาสนาแก่บุคคลทั่วไป

ท่านพุทธทาสได้สร้างโรงมหรศพทางวิญญาณซึ่งใช้เป็นสถานที่สอนธรรมมะ ปฏิบัติและเป็นสถานที่ประชุมอยู่ภายในสวนโมกขพลารามด้วย ท่านพุทธทาสภิกขุได้เขียนหนังสือหลายเล่มที่มีคุณค่าต่อพระพุทธศาสนา หนังสือของท่านสอนให้เข้าใจแก่นธรรมที่แท้จริงในพระพุทธศาสนาและนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติได้ เช่น คู่มือมนุษย์ แก่นพุทธศาสตร์ อิทัปปัจยตา พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ เป็นต้น ชั้นยศสุดท้ายของท่านคือพระธรรมโกษาจารย์
ท่านพุทธทาสภิกขุได้ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบที่สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 เมื่อท่านมีอายุ 87 ปี บวชได้ 67 พรรษา โดยคณะศิษย์ทำพิธีฌาปนกิจร่างของท่านที่สวนโมกขพลารามตามความประสงค์ของท่านก่อนมรณภาพ ท่านพุทธทาสจักเป็นพระภิกษุที่อยู่ในความทรงจำของชาวพุทธตลอดไป
เครดิตภาพ มติชนสุดสัปดาห์, Pinterest, BiA
#เรื่องทั่วไป #เกร็ดความรู้รอบตัว #เทคนิคต่างๆ #สาระน่าสนใจ #พุทธทาสภิกขุ