พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งใจที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาด้านการเกษตรของไทยโดยทรงจำลองความเป็นอยู่ของราษฎรมาไว้ที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาและทรงตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ทรงพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆอย่างครบวงจร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญในการเกษตรด้านการปลูกพืช ทั้งในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ การเพิ่มผลผลิตและการพัฒนาคุณภาพรวมทั้งการจัดการระบบการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ทรงนำพันธุ์ข้าวไปปลูกในแปลงนาบริเวณสวนจิตรลดาและนำเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกไปใช้ในพิธีพระราชมงคลและแจกจ่ายให้ประชาชนเพื่อนำไปปลูกในแปลงของตนเอง ทรงให้มีการทดลองพันธุ์ข้าวในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและศูนย์ศึกษาการพัฒนาทั่วประเทศเพื่อวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
เมื่อปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งโครงการเกษตรหลวงขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานีทดลองปลูกพืชเมืองหนาวทั้งผัก ผลไม้และไม้ดอก เพื่อช่วยชาวเขาในการทำการปลูกพืชทดแทนฝิ่นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นรวมทั้งเป็นการอนุรักษ์พื้นที่แหล่งต้นน้ำ
นอกจากนี้ทรงริเริ่มให้มีการพัฒนาพันธุ์พืชโดยทดลองปลูกพืชพันธุ์ใหม่แล้วยังทรงส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการระบบการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของดินและน้ำรวมทั้งควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืช เช่นการปลูกพืชหมุนเวียน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการควบคุมการระบาดของแมลงโดยใช้แมลงที่ทำหมันด้วยรังสี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงค้นคว้าวิจัยปรับปรุงพันธุ์และเทคนิคการเพาะปลูกทางการเกษตรในสภาพต่างๆ ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นและให้ผลผลิตสูง การปรับปรุงพันธุ์ทรงให้นักวิจัยทดลองในแปลงของศูนย์ศึกษาและพัฒนาทั่วประเทศเพื่อปรับปรุงให้เกิดพันธุ์ดี การพัฒนาระบบการเพาะปลูกโดยปรับปรุงเทคนิคการเพาะปลูกด้วยวิธีต่างๆเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูกให้เหมาะสม

เมื่อปีพ.ศ. 2544 โครงการเกษตรหลวงร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทยได้วิจัยและพัฒนาการนำวานิลลาสายพันธุ์การค้าไปปลูกในโรงเรือนควบคุมที่มีอากาศเย็นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปากเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ต จังหวัดเชียงใหม่ วานิลลาจากแปลงทดลองให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงทัดเทียมกับต่างประเทศ และมีการขยายผลนำเทคนิคการผลิตวานิลลาดังกล่าวไปสู่การผลิตระดับฟาร์มให้กับเกษตรกรชาวเขาเผ่าม้ง บ้านขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่รวมทั้งนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น วานิลลาไซรับ และชาวานิลลา เป็นต้น จึงเกิดการสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรและทดแทนการนำเข้าวานิลลาจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
ในปีพ.ศ. 2549 โครงการเกษตรหลวงร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติทำการวิจัยและพัฒนาสตรอเบอรี่คุณภาพดีในสถานีวิจัยหลวงได้ต้นไหลที่มีคุณภาพดีมีความแข็งแรง รากสมบูรณ์ ทนทานต่อโรคและแมลงและได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกสู่เกษตรกรจำนวนมาก
โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ดเมืองหนาวของโครงการเกษตรหลวงได้ส่งเสริมให้ชาวเขาทำการเพาะเห็ดเมืองหนาวชนิดต่างๆ เพื่อให้ชาวไทยภูเขาปลูกทดแทนฝิ่น มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและผลิตเชื้อเห็ดที่สถานีวิจัยดอยปุย ขยายผลให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยวิจัยเห็ดเมืองหนาวชนิดใหม่เพิ่มขึ้นโดยทดสอบในระบบควบคุมหรือระบบปิด สามารถเพาะเห็ดเข็มทอง เห็ดเห็ดชิเมจิ เห็ดนางรมหลวง เห็ดมิตาเกะ และเห็ดปุยฝ้าย รวมทั้งยังสามารถเพาะเห็ดกระดุม เห็ดโคนหลวง และเห็ดนางรมดอย ได้เป็นผลสำเร็จ
นอกจากที่กล่าวมายังมีโครงการรนำร่องการผลิตเสาวรสในระดับฟาร์ม โครงการวิจัยการผลิตมะเขือเทศนอกฤดู โครงการกำจัดศัตรูพืชโดยใช้กระบวนการธรรมชาติ ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งในพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของชาวไทย
เครดิตภาพ สำนักงาน กปร. The Bangkok Insight, กรุงเทพธุรกิจ
#เรื่องทั่วไป #เกร็ดความรู้รอบตัว #เทคนิคต่างๆ #สาระน่าสนใจ #การเกษตรของรัชกาลที่9