ศรีบูรพาคือนามปากกาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียน นักประพันธ์และนักแปล ที่เป็นบุคคลในอุดมคติและแบบอย่างของนักเขียนและนักอ่านชาวไทยหลายคนในปัจจุบัน ท่านเป็นคนที่มีจุดยืนในการต่อสู้เพื่อให้ได้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักการประชาธิปไตยสากลจนถูกรัฐบาลในสมัยเผด็จการจับเข้าคุกหลายครั้ง

ศรีบูรพาเกิดในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2448 ที่กรุงเทพฯ บิดาชื่อสุวรรณเป็นพนักงานกรมรถไฟหลวง มารดาชื่อสมบุญ เป็นชาวนาอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ศรีบูรพาเป็นบุตรชายคนที่ 2 โดยมีพี่สาวอีกคน
ศรีบูรพาเริ่มเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดหัวลำโพงจนถึงประถม 4 เมื่อบิดาเสียชีวิต มารดาจึงนำท่านไปฝากเรียนต่อที่โรงเรียนทหารเด็กของกรมหลวงนครราชสีมาและมาเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 8
เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศรีบูรพาได้ทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือชื่อ สาส์นสหายแต่ออกมาได้เพียง 7 เล่ม ต่อมาจึงเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ที่กรมยุทธศึกษา
ระหว่างที่ทำงานที่กรมยุทธศึกษาศรีบูรพาได้ส่งผลงานไปลงตีพิมพ์ในนิตยสารหลายเล่ม เช่น เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ สมานมิตรบันเทิง มหาวิทยาลัย สวนอักษร สาราเกษม ปราโมทย์นคร ดรุณเกษม เฉลิมเชาว์ วิทยาจารย์
ศรีบูรพาตัดสินใจออกมาเป็นนักเขียนอิสระ โดยการตั้งคณะสุภาพบุรุษร่วมกับนักเขียนคนสำคัญอีกหลายท่าน เช่น ยาขอบ ฮิวเมอริสต์ จัดทำหนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2472 – พ.ศ. 2473
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ศรีบูรพาแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามในการร่วมมือกับญี่ปุ่นจนถูกจำคุกในข้อหากบฏเป็นเวลา 3 เดือน

เมื่อ พ.ศ. 2495 ศรีบูรพาถูกรัฐบาลจับกุมในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักรหรือที่รู้จักกันในชื่อกบฏสันติภาพ ติดคุกอยู่ 4 ปีก็ได้รับการนิรโทษกรรมในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ. 2500
ต่อมาศรีบูรพาได้รับเชิญให้ไปเยือนสหภาพโซเวียดตามคำเชิญของสมาคมส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับนานาประเทศของสหภาพโซเวียดซึ่งเมื่อกลับมาประเทศไทยได้นำประสบการณ์นี้มาเขียนบทความเรื่อง”ประโยชน์ของการติดต่อเรียนรู้จากกัน”
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2501 ศรีบูรพาเขียนบทความเรื่อง”ในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง” ที่สะท้อนความรู้สึกที่มีต่อบรรยากาศของสังคมไทยในสมัยนั้น
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501 ศรีบูรพาได้รับเชิญให้นำ”คณะผู้แทนส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะที่อยู่ที่ประเทศจีน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ทำรัฐประหาร มีการจับกุมผู้รักประชาธิปไตยและนักเขียนที่กลับจากการไปเยือนเมืองจีนจำนวนมาก ศรีบูรพาจึงขอลี้ภัยและอาศัยอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจนกระทั่งถึงแก่กรรมที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2517
ศรีบูรพาได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปีพ.ศ. 2505 ผลงานทางด้านวรรณกรรมของท่านที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น ข้างหลังภาพ ลูกผู้ชาย และไปข้างหน้า สงครามชีวิต จนกว่าเราจะพบกันอีก เป็นต้น
เครดิตภาพ กองทุนศรีบูรพา, ประชาไท
#เรื่องทั่วไป #เกร็ดความรู้รอบตัว #เทคนิคต่างๆ #สาระน่าสนใจ #ศรีบูรพา #กุหลาบสายประดิษฐ์