การที่คุณจะแต่งนิยายออกมาได้สักเรื่องหนึ่งย่อมต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และแรงบันดาลใจที่ก่อกำเนิดสิ่งที่อยากถ่ายทอดถึงผู้อ่าน หากคุณคิดโครงเรื่องนิยายที่อยากเขียนโดยขาดแรงบันดาลใจ เอาแต่คิดว่าปีนี้ต้องคิดนิยายให้ได้จำนวนกี่เรื่องเท่านั้นก็เหมือนเป็นการทำแบบให้ผ่าน ๆ ให้ได้ตามจุดมุ่งหมาย
จะดีกว่าหรือไม่หากคุณจะไม่ยึดติดกับความจำเป็นในการเขียน แต่ยึดตามแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นเพื่อรังสรรค์ให้เกิดเรื่องราวน่าสนใจที่แม้จะสร้างเรื่องออกมาได้ไม่กี่เรื่องในระยะเวลาที่กำหนด แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่พอจะทำให้มีผู้ติดตามมากและเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม เรียกได้ว่า “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” คุณนักเขียนทุกคนสามารถหาแรงบันดาลใจได้จากไหนบ้างน่ะหรือ? ตามไปอ่านกันเถอะ

– แรงบันดาลใจในการแต่งนิยายมาจาก “บุคคล”
เมื่อคุณได้พบกับบุคลต้นแบบที่รู้สึกประทับใจ เจอเพื่อนหรือใครก็ตามที่มีลักษณะเด่นแตกต่างจากคนอื่น คุณก็จะเกิดแรงบันดาลใจในการทำลักษณะเด่นบางส่วนของความเป็นเขามาใช้ในการสร้างตัวเอกที่ก่อให้เกิดเรื่องราวสำคัญในนิยายใหม่ของคุณได้ เช่น นิยายเรื่อง “พรพรหมอลเวง” ที่ถูกสร้างเป็นละครให้นางเอกที่เป็นผู้ใหญ่เข้ามาอยู่ในร่างของ “น้องเมย์” หลานพระเอกที่เป็นเด็ก
ทำให้ตัวบทบาทของน้องเมย์ต้องมีความเป็นผู้ใหญ่กว่าวัยจนน่าตกใจในสายตาคนอื่น ซึ่งคุณกิ่งฉัตรที่เป็นผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ได้ให้สัมภาษณ์ว่าท่านมีแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครน้องเมย์มาจากนิสัยของเพื่อนในวัยเด็ก เป็นต้น

– แรงบันดาลใจในการแต่งนิยายมาจาก “สถานที่”
นักเขียนมักจะไม่อยู่นิ่งเหมือนที่คนอื่นคิด หากคุณไม่เปิดอ่านหนังสือ ก็ต้องเสิร์ชกูเกิลหาสถานที่ หรือออกเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ ที่ไม่เคยไปจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจอยากนำลักษณะและวัฒนธรรมของสถานที่ในจังหวัดหรือประเทศนั้น ๆ มาเขียนในนิยายหรือสร้างเป็นเมืองสมมุติขึ้นมาดโดยนำวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่คุณเคยประทับใจมามิกซ์แอนด์แมชต์ให้เกิดความลงตัวเป็นสถานที่ใหม่ของคุณในโลกแห่งนิยายขึ้นมา เรียกได้ว่าไปพักผ่อนก็ยังได้ไอเดียกลับไปด้วยเลยล่ะ

– แรงบันดาลใจในการแต่งนิยายมาจาก “เหตุการณ์ที่พบเจอ”
ไม่ว่าจะเป็นที่ใด เวลาไหน เมื่อคุณได้ประสบพบเจอกับเหตุการณ์เด่น ๆ ที่ตัวเองจดจำมันได้ไม่มีวันลืม การที่จะนำเหตุการณ์ที่เจอนั้นมาสร้างเป็นโครงเรื่องให้นิยายของคุณก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เช่น การที่คุณไปนอนในโรงแรมแห่งหนึ่งแล้วเจอกับคนแปลกหน้าที่เข้ามาบอกว่า นี่คือห้องของตัวเอง และเขาก็หายวับไปกับตาคุณพร้อมสีหน้างุนงง มีแค่คุณที่เห็นเขาคนเดียว หากมองโดยตรงก็คงคิดว่าเป็นผี
แต่หากคิดลึกลงไปมันอาจจะเป็นมิติที่ทับซ้อนกันพอดี ซึ่งคุณก็คิดว่ามันน่าสนใจจึงนำมาสร้างเป็นเรื่องราวในนิยายที่พระเอกกับนางเอกได้เจอกันในห้องหนึ่งที่ต่างเป็นเจ้าของแต่พวกเขาอยู่ในมิติที่แตกต่างกัน เป็นต้น
รูปภาพประกอบ kapook.com, Pixabay
#เรื่องทั่วไป #เกร็ดความรู้รอบตัว #เทคนิคต่างๆ #สาระน่าสนใจ #แรงบันดาลใจในการแต่งนิยาย