ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเรื่องธรรมดาของธรรมชาติตามที่มันเป็นของมัน มนุษย์ที่ไปเกี่ยวข้องกับมัน หรือเอามันมาเป็นเรื่องของมนุษย์ สภาวะที่เป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องสำหรับปัญญาที่จะรู้จะเข้าใจ แล้วจะได้ปฏิบัติต่อมันและเกี่ยวข้องกับมันด้วยความรู้ของปัญญานั้นเรียกว่าเท่าทันกัน

แต่มนุษย์มักมีจิตใจซึ่งมีความอยากความปรารถนาเป็นเจ้าใหญ่ และมนุษย์ก็มักอยู่ในขั้นของการเข้าไปเกี่ยวข้องปฏิบัติจัดการกับสรรพสังขารในโลกด้วยการเอาความอยากความปรารถนาเป็นตัวกำหนด โดยที่ว่าเมื่อจำเป็นจึงเอาปัญญามาใช้แค่สนองหรือรับใช้ความปรารถนานั้น มิใช่ให้ปัญญามาชี้นำบอกทางแก่ความปรารถนาของจิตใจ และความอยากความปรารถนานั้นโดยทั่วไปก็ปรากฏออกมาในระดับของสภาวะที่เรียกว่าตัณหาและตัณหานั้นก็มาในระบบที่เรียกว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

จากตัณหานี้ มนุษย์ก็ประสบเรื่องราวที่เรียกว่าปัญหา ซึ่งเป็นสภาวะที่เป็นทุกข์ของมนุษย์ สิ่งที่สำคัญจึงหมายถึงการมีวิถีชีวิตที่ลดละปัญหาผ่อนเบาปลอดพ้นทุกข์ ด้วยการมีปัญญาเป็นผู้นำที่รู้เข้าใจความจริงแห่งสภาวะทั้งหลายตามกฎธรรมชาติที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งจะพาให้ปฏิบัติจัดการกับมันด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจเท่าทันความจริงของมัน
สำหรับคนที่มีความอยากความปรารถนามากนั้น เขาต้องการความเที่ยงแท้ แต่ก็ต้องพบกับอนิจจตาก็คือความไม่สมดังปรารถนา เขาอยากได้ความง่ายดายไม่ติดขัดให้เป็นอย่างใจ แต่ก็ต้องเจอทุกขตาที่ฝืนความปรารถนาบีบคั้นใจ เขายึดเขาถือนั่นนี่เป็นของเขามันจะต้องเป็นไปตามที่เขาเรียกร้องต้องการ แต่เขาก็ต้องจำยอมแก่อนัตตาที่มันไม่ตามใจสนองคำสั่งของคนที่ถือตัวเป็นเจ้าของ ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย ปัญญาทำให้จิตพัฒนาถึงวิชชา อวิชชาก็หายไป ตัณหาอุปาทานหมดไป เมื่อหมดสิ้นปัจจัยทุกข์ก็ดับไม่มีอีกต่อไปอยู่
รวมความว่าในวิถีของจิตใจที่ตัณหาครอบงำอยู่นั้น คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังขารหรือสภาวธรรมทั้งหลายโดยขาดปัญญานั้น จะได้พบประสบกับภาวะที่มันปรากฎออกมาในลักษณะที่พร้อมหรือรอที่จะบีบคั้นกดดันขัดขืนฝืนใจไม่เป็นไปตามที่ปรารถนาซึ่งรวมแล้วเรียกว่าทุกข์ พูดอีกนัยหนึ่ง
จากทุกข์ที่เป็นธรรมดาแห่งสภาวะของสังขาร ก็ขยายออกมาเป็นทุกข์ในใจของคนตามที่ว่านี้ คำว่า “ทุกข์” จึงเป็นคำสำคัญสำหรับมนุษย์ โดยที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขารนั้น ทุกข์ได้มีความหมายขึ้นมาอีกหลายระดับ โดยพื้นฐาน ทุกข์ก็คือภาวะตามธรรมชาติสังขาร ซึ่งมีการเกิดขึ้นแล้วสลายไปบังคับให้คงอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไป

สังขารทั้งหลายที่เป็นชีวิตของมนุษย์ ในภาวะที่มันเป็นทุกข์ตามธรรมดาของมันอย่างนั้น เมื่อเข้ามาอยู่ในตัวของมนุษย์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมันโดยมีอวิชชา-ตัณหา-อุปาทานครอบงำกำกับอยู่ ก็กลายเป็นว่ามันแฝงศักยภาพอยู่ในตัวของมัน ที่พร้อมจะขัดขืนฝืนใจกลายเป็นความบีบคั้นที่ก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่าความทุกข์ขึ้นแก่มนุษย์คนนั้น ในเมื่อมันไม่สามารถเป็นไปตามความยึดความอยากความปรารถนา คือไม่สามารถสนองตัณหาอุปาทานของคนนั้นได้จริง
ดังคำสรุปที่ว่า “อุปาทานขันธ์ห้าเป็นทุกข์” ซึ่งมีความหมายว่าขันธ์ทั้งห้าที่ยึดถือไว้ด้วยอุปาทานนั้นเป็นทุกข์ ในความหมายว่าเป็นที่ตั้งของทุกข์ คือมีศักยภาพที่พร้อมจะก่อกำเนิดทุกข์ขึ้นแก่คนๆนั้น ทุกข์คือสภาวะของจิตใจที่เป็นความรู้สึกอึดอัดกดดันไม่สบายที่เป็นที่เข้าใจกัน เป็นภาวะของความเป็นไปที่ขัดขืนฝืนความปรารถนา ซึ่งเกิดขึ้นจากอวิชชา ตัณหา อุปาทานนั่นเอง ทุกข์ที่จะไม่เกิดไม่มีหรือจะสลายไปได้ด้วยวิชชา เริ่มต้นจากปัญญาที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นไป
#เรื่องทั่วไป #เกร็ดความรู้รอบตัว #เทคนิคต่างๆ #สาระน่าสนใจ #วิถีแห่งปัญญา