พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือสมเด็จพระปิยมหาราช พระองค์ทรงมีความตั้งใจจะพัฒนาประเทศสยามให้มีความเจริญและทันสมัยเหมือนชาติตะวันตกแม้ว่าพระองค์เองไม่มีโอกาสได้ไปศึกษาที่ต่างประเทศแต่ก็ทรงศึกษาจากตำราตะวันตก
เมื่อทรงขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์และพิจารณาปัญหาของบ้านเมืองขณะนั้น ทรงพบว่าการปกครองบ้านเมืองแบบเดิมตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงก่อนรัชกาลที่ 5 ยังเป็นระบบจารีตแบบเก่า ทรงพบว่าบ้านเมืองไม่มีเอกภาพแห่งดินแดน คือรัฐไม่สามารถรวมอำนาจการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง การควบคุมหัวเมืองในสมัยก่อนจึงชึ้นอยู่กับความสามารถและบารมีของพระมหากษัตริย์ บางคราวก็เกิดการกบฏและการไม่ยอมรับอำนาจของส่วนกลาง
แม้แต่พระมหากษัตริย์เองก็ไม่มีสถานะมั่นคงเพราะต้องอาศัยฐานอำนาจจากกลุ่มขุนนางมาสนับสนุน นอกจากนี้ประเทศยังเริ่มถูกคุกคามโดยมหาอำนาจตะวันตกคืออังกฤษและฝรั่งเศส ประเทศสยามในขณะนั้นจึงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่สูงมาก

– สมเด็จพระปิยมหาราชทรงปฏิรูปการปกครอง
- สมเด็จพระปิยมหาราชทรงทำการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองครั้งใหญ่อย่างที่เรียกว่า “การพลิกแผ่นดิน” การปฏิรูปการปกครองในระยะแรก ทรงดึงอำนาจจากขุนนางกลับคืนมาสู่พระมหากษัตริย์
- สมเด็จพระปิยมหาราชทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน โดยทรงตั้งขุนนางชั้นพระยาที่มีความสุจริตยุติธรรมที่ทรงไว้วางใจ เพื่อดึงอำนาจคืนมาจากขุนนางเก่ากลุ่มของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แต่ก็ทรงดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนสำเร็จโดยไม่ทรงประสงค์ที่จะแสดงตนเป็นศัตรูกับขุนนางเก่าเหล่านั้น
- สมเด็จพระปิยมหาราชทรงตั้งสภาที่ปรึกษาในพระองค์ เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการบริหารบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้าแบบตะวันตก
- ด้านการบริหารราชการส่วนกลาง สมเด็จพระปิยมหาราชทรงตั้งกระทรวงตามระบบใหม่จำนวน 12 กระทรวง เพื่อบริการและจัดการราชการแผ่นดินในด้านต่างๆ
- ด้านการบริหารราชการส่วนภูมิภาค สมเด็จพระปิยมหาราชทรงตั้งมณฑลเทศาภิบาลภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทยขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ภายหลังแต่ละมณฑลจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดและแบ่งออกไปเป็นอำเภอ ตำบลและหมู่บ้านเป็นรูปแบบมาถึงปัจจุบัน
- ด้านการบริหาราชการส่วนท้องถิ่น สมเด็จพระปิยมหาราชทรงตั้งสุขาภิบาลเพื่อดูแลเรื่องการจัดระเบียบชุมชนและดูแลด้านสุขอนามัยของประชาชน สุขาภิบาลเป็นพื้นฐานของยกระดับเป็นการบริหารแบบเทศบาลในเวลาต่อมา
– สมเด็จพระปิยมหาราชทรงปฏิรูปสังคมด้วยการเลิกระบบทาสและไพร่
สมเด็จพระปิยมหาราชทรงยกเลิกระบบทาส โดยทรงกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยทรงออกพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย โดยให้บุคคลที่เป็นทาสที่เกิดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2411 เป็นต้นไปได้รับอิสระเมื่ออายุ 21 ปี และ พระราชบัญญัติเลิกทาส รศ.124 โดยให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 และมีข้อห้ามไม่ให้คนที่เป็นไทแล้วต้องกลับไปเป็นทาสอีก
สมเด็จพระปิยมหาราชทรงยกเลิกระบบไพร่ ไพร่คือสามัญชนที่ถูกกำหนดให้ต้องสังกัดนายและถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานให้รัฐโดยไม่ได้ค่าจ้างแต่ได้รับการคุ้มครองทางกำหมายเป็นการตอบแทน ภายหลังระบบไพร่ได้เสื่อมลงไปเองเนื่องมาจากสนธิสัญญาเบาว์รื่ง ทำให้ระบบการทำงานของแรงงานเปลี่ยนไปจากการใช้แรงงานเพื่อยังชีพมาเป็นการขายแรงงานเพื่อมีรายได้ ไพร่จึงยอมเสียเงินออกจากระบบไปเพื่อทำงานเกิดรายได้แก่คนเอง

– สมเด็จพระปิยมหาราชทรงปฏิรูปการศึกษา
สมเด็จพระปิยมหาราชทรงให้สร้างโรงเรียนสอนวิชาการต่างๆแบบตะวันตก มาแทนการศึกษาแบบเดิมที่สอนโดยพระสงฆ์หรือสอนกันเองภายในครอบครัว
– สมเด็จพระปิยมหาราชทรงการปฏิรูปการคมนาคม
สมเด็จพระปิยมหาราชทรงวางรากฐานการคมนาคมของประเทศไทย ทรงโปรดให้สร้างถนนขึ้นหลายสาย เช่น เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร สีลม ทรงโปรดให้ขุดคลองเพื่อการคมนาคมและการชลประทาน เช่น คลองผดุงกรุงเกษม คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก ทรงสนับสนุนการสร้างเรือกลไฟ ทรงวางรากฐานการไปรษณีย์โทรเลข โดยจัดตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขขึ้น ทรงโปรดให้สร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ทางรถไฟสายพายัพ และทางรถไฟสายใต้ นอกจากนี้ทรงเริ่มให้นำระบบโทรศัพท์เข้ามาใช้ในประเทสไทย
สมเด็จพระปิยมหาราชทรงปฏิรูปการคลัง การปกครอง การสังคม การศึกษา และการคมนาคม ถือเป็นการวางรากฐานของประเทศอย่างแท้จริง ในเวลาต่อมาประเทศไทยสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน
เครดิตภาพ Kapook, เชียงใหม่นิวส์, กรุงเทพธุรกิจ
#เรื่องทั่วไป #เกร็ดความรู้รอบตัว #เทคนิคต่างๆ #สาระน่าสนใจ #สมเด็จพระปิยมหาราช