แนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ในการจัดการศัตรูพืช

การทำการเกษตรของประเทศไทยมีการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากทั้งการใช้เป็นปุ๋ยเพื่อการเกษตรและใช้ในการกำจัดศัตรูพืช ทำให้เกษตรกรต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการซื้อสารเคมีเหล่านี้มาใช้และก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมทั้งดินและน้ำ รวมทั้งปัญหาสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับสารเคมีตกค้างเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นภาระของประเทศในการกำจัดสารพิษที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและการรักษาพยาบาลผู้ป่วย สารเคมีทางการเกษตรที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืชที่มีจำหน่ายทั่วไป ประกอบด้วยสารเคมีกำจัดแมลง สารเคมีกำจัดหนู สารเคมีกำจัดหอยและปู สารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา สารเคมีป้องกันและกำจัดวัชพืช เป็นต้น การลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทำได้โดยการใช้สารเคมีเฉพาะที่ถูกต้องในแต่ละกรณีและการใช้สารเคมีเท่าที่มีความจำเป็นจริง อีกวิธีหนึ่งคือการทำการเกษตรแบบยั่งยืนโดยการปลูกพืชผสมผสานและการใช้สมุนไพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญในการทำการเกษตรและการจัดการศัตรูพืชโดยการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริในเรื่องความประหยัด เพื่อให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด โดยพึ่งธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่มีราคาแพงและมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นและประชาชนผู้บริโภคมีความปลอดภัย แมลงวันผลไม้เป็นหนึ่งในศัตรูพืชโดยเฉพาะของผลท้อ ผลบ๊วย ผลสาลี่และผลพลับที่ปลูกบริเวณดอยอ่างขาง โดยตัวเมียจะวางไข่ในผลไม้และไข่ฟักออกมากินผลไม้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติจึงได้ทำการวิจัยและเทคนิคการควบคุมและกำจัดแมลงวันผลไม้ตามแนวพระราชดำริ โดยการปล่อยแมลงวันที่เป็นหมันด้วยการฉายรังสีออกไปผสมกับแมลงวันตามธรรมชาติ จะทำให้ปริมาณแมลงวันผลไม้ตามธรรมชาติลดลง ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรจึงนำเทคนิคการจัดการศัตรูพืชวิธีนี้ไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆอีกหลายพื้นที่โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องทำให้การสูญเสียผลิตผลจากแมลงวันผลไม้ลดลงและเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น เช่นการนำไปดำเนินการที่จังหวัดจันทบุรีที่มีการปลูกผลไม้มากที่สุดของประเทศไทย เช่น ทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด และมีการส่งไปจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปขายต่างประเทศเป็นจำนวนมาก การระบาดของแมลงวันผลไม้ทำให้เกษตรต้องสูญเสียรายได้ปีละหลายร้อยล้านบาท ทางกระทรวงเกษตรจึงใช้วิธีการปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันในพื้นที่กว้างร่วมกับการดักจับแมลงวันเป็นผลให้แมลงวันถูกทำลายอย่างต่อเนื่องและเกษตรกรมีผลผลิตและรายได้สูงขึ้น ต่อมากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้ดำเนินตามแนวพระราชดำริโดยพัฒนาเทคนิคการกำจัดศัตรูพืชจำพวกแมลงด้วยสารสกัดจากราแมลงโดยใช้วิธีพ่น ชุบบนใบและให้กินผ่านอาหารโดยทดสอบกับแมลง 3 ชนิด คือ เพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้หอมและแมลงหวี่ขาว โดยทำการทดลองร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย เครดิตภาพ กรุงเทพธุรกิจ, มติชนออนไลน์, […]