พุทธทาสในความทรงจำ

พระธรรมโกษาจารย์หรือท่านพุทธทาสภิกขุคือบุคคลสำคัญทางการเผยแพร่แก่นของพระพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสภิกขุเกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2449 ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี นามเดิมคือเงื่อม พานิช บิดาของท่านชื่อนายเซี้ยง พานิช เป็นคนเชื้อจีน ปู่ของท่านได้อพยพมาจากเมืองจีน บิดาของท่านทำการค้าขายอยู่ในตลาดพุมเรียง มารดาของท่านชื่อนางเคลื่อน พานิชเป็นคนอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนตาของท่านเป็นขุนนางที่ปกครองหัวเมืองทางภาคใต้ ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องชายชื่อยี่เกยต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธรรมทาส พานิช ต่อมาน้องชายของท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนท่านโดยเฉพาะเรื่องการพิมพ์หนังสือเผยแพร่พระพุทธศาสนาและคำบรรยายของท่านอย่างแข็งขันในเวลาต่อมา เมื่อท่านพุทธทาสอายุได้ 8 ขวบ บิดามารดาได้พาท่านมาฝากเป็นเด็กวัดที่วัดพุมเรียงเพื่อให้ได้รับการศึกษาขั้นต้นและให้เกิดความคุ้นเคยกับพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อมีอายุครบ 20 ปี ท่านพุทธทาสภิกขุได้บวชเป็นพระที่วัดอุบลได้รับฉายาว่า อินทปญโญ แปลว่าผู้มีปัญญายิ่งใหญ่ ท่านพุทธทาสได้ทุ่มเทให้กับการศึกษาหลักสูตรนักธรรมโดยการอ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อจะสอบให้ได้เปรียญธรรมชั้นสูงขึ้น แต่เดิมท่านตั้งใจจะบวชเพียงพรรษาเดียวคือ 3 เดือน แต่เมื่อท่านได้ศึกษานักธรรมและมีโอกาสได้ขึ้นเทศน์บ่อยๆ ท่านจึงเกิดความยินดีและอยู่ในเพศบรรพชิตต่อมาโดยไม่มีกำหนดสึก เมื่อครบพรรษาที่สองท่านจึงสอบได้นักธรรมโท ต่อมาท่านพุทธทาสได้ไปศึกษาธรรมต่อในกรุงเทพฯ โดยได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เมื่อท่านมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านกลับพบว่าการปฏิบัติทางพระวินัยและความเหมาะสมสำรวมของพระภิกษุที่กรุงเทพฯ นั้นย่อหย่อนและออกนอกลู่นอกทาง ท่านจึงเกิดความเบื่อหน่ายและกลับมาที่พุมเรียง เมื่อท่านพุทธทาสสามารถสอบได้นักธรรมเอกได้ ท่านได้ชลอการลาสิกขาไว้ก่อนและได้รับการชักชวนจากรองเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาให้ไปเป็นอาจารย์สอนนักธรรม ท่านตั้งใจจะลาสิกขาเมื่อเสร็จภาระกิจในการสอนนักธรรมแล้ว ต่อมาอาของท่านผลักดันให้ท่านกลับเข้ามาศึกษาธรรมในกรุงเทพฯอีกครั้ง โดยหวังให้ท่านได้เป็นมหาเปรียญเพื่อเป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล เมื่อท่านพุทธทาสกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ ท่านมุ่งเน้นที่จะศึกษาภาษาบาลีเป็นหลักและให้ความสนใจกับสิ่งภายนอก […]